“ที่ดิน” เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของหรือที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดิน และผู้ที่มีเพียงสิทธิครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ และที่ดินยังเป็นหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์ที่โดยปกติแล้วราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะราคาตลาดหรือราคาที่มีการซื้อขายกันจริง ๆ ในพื้นที่นั้น ซึ่งมักจะมีราคาสูงกว่าราคาประเมินที่ดินของราชการหลายเท่า ทำให้หลายคนจึงเลือกซื้อที่ดินเปล่าเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร แต่หากปล่อยที่ดินไว้ให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้ทำประโยชน์ใด จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่น ๆ ถ้าที่ดินมีขนาดใหญ่ยิ่งต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า เจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3-0.7% และจะเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก ๆ 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 3%
หากใครมีที่ดินเปล่าอยู่ในครอบครอง แต่ยังไม่มีไอเดียในการพัฒนาหรือต้องการเก็บไว้ลงทุนต่อยอดในอนาคต ในระหว่างนี้ อาจเปลี่ยนจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นวิธีที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของที่ดิน และยังช่วยลดเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อีกด้วย
ที่ดินเกษตรกรรม คืออะไร?
“ที่ดินเกษตรกรรม” เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม (ไม่รวมการทำประมงและการทอผ้า) และต้องเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศไว้ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงชนิดพืช ชนิดสัตว์ หรือลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้มีอัตราขั้นต่ำต่อไร่ อัตราพื้นที่คอกหรือโรงเรือน และอัตราการใช้ที่ดินตามที่กำหนดไว้ จึงจะถือว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรมหรือเข้าข่ายการใช้ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งจะเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ 0.01-0.1%
อัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรม
ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม เป็นประเภทที่ดินที่มีอัตราภาษีต่ำที่สุด โดยถูกกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าของที่ดิน มีรายละเอียด ดังนี้
ที่ดินมูลค่า 0-75 ล้านบาท | อัตราภาษี 0.01% (ล้านละ 100 บาท) |
ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท | อัตราภาษี 0.03% (ล้านละ 300 บาท) |
ที่ดินมูลค่า 100-500 ล้านบาท | อัตราภาษี 0.05% (ล้านละ 500 บาท) |
ที่ดินมูลค่า 500-1,000 ล้านบาท | อัตราภาษี 0.07% (ล้านละ 700 บาท) |
ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี 0.1% (ล้านละ 1,000 บาท) |
57 ไม้ผล ปลูกแล้วเข้าข่ายการประกอบเกษตรกรรม
ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม สำหรับจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมที่มีชนิดพืช ชนิดสัตว์ เพื่อให้มีอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการประกอบเกษตรกรรม
LAD จะพาไปสำรวจในส่วนของพืชที่ถูกกำหนดไว้ทั้ง 57 ชนิด ว่ามีอะไรบ้าง แล้วแต่ละชนิดมีอัตราขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าเป็น “ที่ดินเกษตรกรรม”
หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ชนิด อัตราขั้นต่ำต่อไร่
1. กล้วยหอม 200 ต้น/ไร่
2. กล้วยไข่ 200 ต้น/ไร่
3. กล้วยน้ำว้า 200 ต้น/ไร่
4. กระท้อนเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่
- พันธุ์ทับทิม 25 ต้น/ไร่
- พันธุ์ปุยฝ้าย 25 ต้น/ไร่
5. กาแฟ 170 ต้น/ไร่
- พันธุ์โรบัสต้า 170 ต้น/ไร่
- พันธุ์อราบิก้า 400 ต้น/ไร่
6. กานพลู 20 ต้น/ไร่
7. กระวาน 100 ต้น/ไร่
8. โกโก้ 150-170 ต้น/ไร่
9. ขนุน 25 ต้น/ไร่
10. เงาะ 20 ต้น/ไร่
11. จำปาดะ 25 ต้น/ไร่
12. จันทร์เทศ 25 ต้น/ไร่
13. ชมพู่ 45 ต้น/ไร่
14. ทุเรียน 20 ต้น/ไร่
15. ท้อ 45 ต้น/ไร่
16. น้อยหน่า 170 ต้น/ไร่
17. นุ่น 25 ต้น/ไร่
18. บ๊วย 45 ต้น/ไร่
19. ปาล์มน้ำมัน 22 ต้น/ไร่
20. ฝรั่ง 45 ต้น/ไร่
21. พุทรา 80 ต้น/ไร่
22. เสาวรส 400 ต้น/ไร่
23. พริกไทย 400 ต้น/ไร่
24. พลู 100 ต้น/ไร่
25. มะม่วง 20 ต้น/ไร่
26. มะพร้าวแก่ 20 ต้น/ไร่
27. มะพร้าวอ่อน 20 ต้น/ไร่
28. มะม่วงหิมพานต์ 45 ต้น/ไร่
29. มะละกอ
- ยกร่อง 100 ต้น/ไร่
- ไม่ยกร่อง 175 ต้น/ไร่
30. มะนาว 50 ต้น/ไร่
31. มะปราง 25 ต้น/ไร่
32. มะขามเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่
33. มะขามหวาน 25 ต้น/ไร่
34. มังคุด 16 ต้น/ไร่
35. ยางพารา 80 ต้น/ไร่
36. ลิ้นจี่ 20 ต้น/ไร่
37. ลำไย 20 ต้น/ไร่
38. ละมุด 45 ต้น/ไร่
39. ลางสาด 45 ต้น/ไร่
40.ลองกอง 45 ต้น/ไร่
41. ส้มโอ 45 ต้น/ไร่
42. ส้มเกลี้ยง 45 ต้น/ไร่
43. ส้มตรา 45 ต้น/ไร่
44. ส้มเขียวหวาน 45 ต้น/ไร่
45. ส้มจุก 45 ต้น/ไร่
46. สาลี่ 45 ต้น/ไร่
47. สะตอ 25 ต้น/ไร่
48. หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น/ไร่
49. หมาก 100-170 ต้น/ไร่
50. หม่อน 35 ต้น/ไร่
51. องุ่น 35 ต้น/ไร่
52. แก้วมังกร 35 ต้น/ไร่
53. แอปเปิล 35 ต้น/ไร่
54. อะโวคาโด 35 ต้น/ไร่
55. อินทผลัม 35 ต้น/ไร่
56. ยูคาลิปตัส 35 ต้น/ไร่
57. พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ 35 ต้น/ไร่
นอกจากไม่ต้องเสียภาษีที่ดินหรือเสียในอัตราต่ำแล้วนั้น ผลผลิตที่ได้จากการประกอบเกษตรกรรม ยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเจ้าของที่ดินได้อีกด้วย หรือจะปล่อยเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เหมาะกับเจ้าของที่ดินที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ทางด้านการเกษตร เพื่อไม่ให้ที่ดินถูกปล่อยรกร้างไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังได้ผลตอบแทนเป็นเงินค่าเช่าที่ดินอีกด้วย
สำหรับใครที่มีที่ดินเปล่าแต่ไม่อยากปล่อยรกร้าง และไม่รู้จะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร LAD มีทีมผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาด้านที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนให้คำปรึกษาเรื่องข้อจำกัดด้านกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนทางธุรกิจของคุณ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ LAD Service
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง