top of page
Clip path group
Clip path group

ส่องผังเมืองกรุงเทพฯ จากปี 2566 สู่ ร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีอะไรเปลี่ยนบ้าง?

มิ.ย. 10

2 min read

0

3

0



สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กำลังดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน หลังจากที่ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปัจจุบันนั้นถูกใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 นับเป็นเวลารวมกว่า 10 ปี

แม้ว่าจะมีการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมและประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนไปแล้วในปี 2562 แต่ด้วยเรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการผังเมือง จึงทำให้ต้องมีการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในครั้งนี้ และเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนใหม่อีกครั้ง โดยกรุงเทพมหานครได้เปิดให้ประชาชนยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 - วันที่ 22 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา และได้ขยายเวลาแสดงความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นลำดับถัดไป และคาดว่าจะใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบันประมาณปี 2568


ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องการขยายตัวของเมืองไปยังชานเมืองและพื้นที่โดยรอบ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ต้องปรับให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และพร้อมรองรับกับการพัฒนาของเมืองในอนาคต


สำหรับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อกำหนดที่แตกต่างไปจากผังเมืองเดิม เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองจากเขตชั้นในไปยังพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ทำให้ร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับนี้ จะแบ่งประเภทและลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยแบ่งออกเป็น 15 ประเภทย่อย คือ ย.1-ย.15 จากเดิมที่แบ่งย่อยเพียง ย.1-ย.10


รู้จักสีผังกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองรวม


ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556

ก่อนจะตามไปดูรายละเอียดของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เราลองย้อนไปดูผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปี 2556 ว่ามีภาพรวมลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างของผังเมืองทั้ง 2 ฉบับ


การแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปี 2556

ประเภทที่ดิน

สีผังเมือง

ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ย.1-ย.4

เขตสีเหลือง

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

ย.5-ย.7

เขตสีส้ม

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

ย.8-ย.10

เขตสีน้ำตาล

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก

พ.1-พ.5

เขตสีแดง

ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

อ.1-อ.2

เขตสีม่วง

ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม

อ.3

เขตสีเม็ดมะปราง

ที่ดินประเภทคลังสินค้า

ก.1-ก.3

เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว

ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

ก.4-ก.5

เขตสีเขียว

ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

ศ.1-ศ.2

เขตสีน้ำตาลอ่อน

ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

ส.

เขตสีน้ำเงิน

ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร


ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556

ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร



ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ประกอบด้วย แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ


ในส่วนของแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการจำแนกประเภทและข้อกำหนดที่แตกต่างจากเดิมหลายประการ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการปรับเปลี่ยนจากที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.1 และ ศ.2) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) พาณิชยกรรม (พ.1 และ พ.2 ใหม่) และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.)


การเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ปรับปรุงครั้งที่ 4

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้มีการแบ่งประเภทและลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีรายละเอียดแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันและการขยายตัวของเมืองในอนาคตนั้น ร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับนี้ จึงมีการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 9 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีรายละเอียด ดังนี้


ประเภทที่ดิน

สีผังเมือง

ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ย.1-ย.5

เขตสีเหลือง

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

ย.6-ย.10

เขตสีส้ม

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

ย.11-ย.15

เขตสีน้ำตาล

ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก

พ.1-พ.8

เขตสีแดง

ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

อ.1-อ.2

เขตสีม่วง

ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม

อ.3

เขตสีเม็ดมะปราง

ที่ดินประเภทคลังสินค้า

ก.1

เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว

ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

ก.2-ก.3

เขตสีเขียว

ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

ส.

เขตสีน้ำเงิน

ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร


ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4

ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร



ส่อง 9 พื้นที่สำคัญ ปลดล็อกผังเมือง

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 พบว่า มีการปรับปรุงและแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายพื้นที่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 9 บริเวณหลัก ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบจำแนกประเภท ได้แก่


1. กรุงรัตนโกสินทร์

2. บริเวณรัชโยธิน

3. บริเวณดอนเมือง-หลักสี่

4. บริเวณลาดพร้าว-รามอินทรา

5. บริเวณศรีนครินทร์

6. บริเวณมีนบุรี

7. ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออก

8. บริเวณตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา

9. บริเวณวงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์


บริเวณที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์


บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเห็นได้ชัดที่สุด โดยมีการปรับเปลี่ยนจากที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.1 และ ศ.2) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) พาณิชยกรรม (พ.1 และ พ.2 ใหม่) และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.)


นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ (Overlay Control) โดยออกข้อกำหนดตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งในเรื่องการควบคุมความสูงของอาคาร การควบคุมลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุอาคาร เป็นต้น


บริเวณที่ 2 รัชโยธิน


ด้วยปัจจัยจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) ตัดผ่านในพื้นที่ ประกอบกับการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทำให้บริเวณรัชโยธินกลายเป็นย่านที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย จากเดิมที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 และ ย.7) ในร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จึงได้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย. 11 และ ย.13) เพื่อรองรับความหนาแน่นของประชากรและการขยายตัวของเมืองในอนาคต


บริเวณที่ 3 ดอนเมือง-หลักสี่


บริเวณดอนเมือง-หลักสี่ เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานดอนเมือง และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าตัดผ่านหลายสาย ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ประกอบกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ส่งผลให้บริเวณดอนเมือง-หลักสี่กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญ และเป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีศักยภาพ ในร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณดอนเมือง-หลักสี่ จากที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) และพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่)


บริเวณที่ 4 ลาดพร้าว-รามอินทรา


บริเวณลาดพร้าว-รามอินทรา มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3 และ ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.7) เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570


บริเวณที่ 5 ศรีนครินทร์


บริเวณศรีนครินทร์ เป็นอีกหนึ่งทำเลชานเมืองที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานศึกษา และสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกทั้งยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าตัดผ่านในพื้นที่ ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง (ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทำให้ย่านศรีนครินทร์กลายเป็นทำเลที่มีศักยภาพ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) เพื่อพร้อมรองรับการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในเขตเมืองชั้นนอก


บริเวณที่ 6 มีนบุรี


ย่านมีนบุรี ถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก เนื่องจากในอดีตเขตมีนบุรีเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของกรุงเทพฯ และปัจจุบันยังเป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงฐานะไป แต่เขตมีนบุรียังคงมีการเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการเกิดแหล่งงานขนาดใหญ่ โครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)


บริเวณมีนบุรี จึงมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) และจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) เป็นประเภทพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) เพื่อรองรับการพัฒนาและการลงทุนในอนาคต


บริเวณที่ 7 ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออก


บริเวณทางน้ำหลากฝั่งตะวันออก เดิมเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) บางส่วน เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการผันน้ำ แต่ในปัจจุบันการปล่อยน้ำมายังบริเวณพื้นที่รับน้ำดังกล่าว อาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ในร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้ จึงได้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณทางน้ำหลากฝั่งตะวันออกให้เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 ใหม่)


และแก้ไขปัญหาโดยการดำเนินการปรับปรุง ขยาย และขุดคลองระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำตามแผนผังแสดงผังน้ำ ประกอบด้วย โครงการขยายคลองเพื่อการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม โครงการขุดคลองเพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม โครงการอุโมงค์ระบายน้ำ และแนวคันป้องกันน้ำท่วมและพนังกั้นน้ำแม่น้ำและลำคลอง


ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร


บริเวณที่ 8 ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา


เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา มีพื้นที่ด้านบนตั้งอยู่ติดกับจังหวัดนนทบุรี รวมถึงยังมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) ตัดผ่านในพื้นที่ ประกอบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่จะสร้างส่วนต่อขยายเส้นทางไปยังศาลายาจนถึงนครปฐมในอนาคตอีกด้วย


ด้วยปัจจัยทางด้านกายภาพ ทำให้บริเวณนี้เป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ จากเดิมที่เคยกำหหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) และประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4 เดิม) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1, ย.3 และ ย.4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4 ใหม่) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร


บริเวณที่ 9 วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์


ปัจจุบันพื้นที่บริเวณวงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์ กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 ประกอบกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) ที่เปิดให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ทำให้พื้นที่มีศักยภาพในการดึงดูดการพัฒนาและลงทุนโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่มากขึ้น


ในร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้ จึงมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณวงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์ จากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.13)



ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

กรมโยธาธิการและผังเมือง

ฐานเศรษฐกิจ

Comments

Share Your ThoughtsBe the first to write a comment.
bottom of page