7 ข้อควรระวัง! ก่อนทำการมอบอำนาจที่ดิน
16 ต.ค. 2023
ใช้เวลาอ่าน 1 นาที
0
456
0
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้น ผู้ทำนิติกรรมจึงควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนดำเนินการใด ๆ แต่หากใครที่ไม่สะดวกและไม่สามารถไปดำเนินการได้ด้วยตนเอง ในทางกฎหมายได้มีข้อยกเว้นให้สามารถทำการมอบอำนาจเรื่องที่ดินได้ โดยจะต้องทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจที่มีสาระสำคัญครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และควรมอบบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองให้กับผู้ไปทำการแทนหรือผู้รับมอบอำนาจเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่
การมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการทำนิติกรรมใดก็ตาม ควรเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ดังนั้น ก่อนที่จะทำการมอบอำนาจที่ดิน เราไปทำความเข้าใจเรื่องการมอบอำนาจว่าควรเตรียมตัวอย่างไร รวมถึงมีข้อควรระวังอะไรบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาภายหลัง
การมอบอำนาจที่ดิน คืออะไร
การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนและการกระทำนั้นมีผลในทางกฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ คือการที่เรามอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินแทนนั้นเอง
กรณีที่ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย คือ เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ผู้มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่ายินยอมให้ผู้รับมอบเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา ๘๐๔ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
7 ข้อควรระวังก่อนทำการมอบอำนาจที่ดิน
1. กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก บ้าน เรือน โรง ให้ชัดเจน
2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่ามอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อ ขาย จำนอง ฯลฯ และหากมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย
3. อย่ากรอกข้อความให้ลายมือไม่เหมือนกันและไม่ควรใช้น้ำหมึกสีต่างกัน หรือถ้ากรอกข้อความโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้ฟอนต์แบบเดียวกันและปริ้นต์จากเครื่องเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารที่อาจเกิดขึ้นได้
4. ถ้ามีรอยขูดลบ แต่งเติม แก้ไข หรือขีดฆ่า ให้ระบุว่า ขีดฆ่า แต่งเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง โดยใช้ปากกาอันเดิม แต่ในทางที่ดีไม่ควรเขียนผิด
ข้อแนะนำ หนังสือมอบอำนาจ เป็นเอกสารที่มีความสำคัญ จึงควรจัดทำด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง หากมีข้อผิดพลาดหลายตำแหน่ง ผู้มอบอำนาจควรจัดทำหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แทนการลบ แต่งเติม แก้ไข หรือขีดฆ่าข้อความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเวลาที่ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการทำนิติกรรมแทน ซึ่งอาจกลายเป็นข้อผิดพลาดจนทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ ก่อนกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และถูกต้องตามความประสงค์แล้วหรืออย่าลงชื่อในกระดาษเปล่า ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความเป็นอันขาด
6. ให้มีพยานอย่างน้อย 1 คน
- ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือ ต้องมีพยาน 2 คน และพยานต้องเซ็นชื่อเท่านั้น ไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ และต้องระบุชื่อ-ชื่อสกุลของพยานให้ชัดเจน
- ถ้าภรรยาเป็นผู้รับมอบอำนาจ ต้องให้สามีลงชื่อเป็นพยานและให้บันทึก
ความยินยอมเป็นหนังสือด้วย
7. หนังสือมอบอำนาจ หากทำในต่างประเทศควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุลหรือโนตารีปัปลิค (Notary Public) รับรองด้วย
เอกสารที่ต้องเตรียม มีอะไรบ้าง?
หนังสือมอบอำนาจ (ท.ด.๒๑ หรือ ท.อ.๔)
โฉนดที่ดินฉบับจริง
บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ฉบับจริง (เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวตน)
ทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจมีกี่แบบ?
หนังสือมอบอำนาจที่ดินตามแบบของกรมที่ดิน สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1. ที่ดินที่มีโฉนดแล้ว หรือ หนังสือมอบอำนาจโฉนด (ท.ด.๒๑)
2. ที่ดินที่ยังไม่มีโฉนด หรือ หนังสือมอบอำนาจ น.ส.๓, น.ส.๓ ก. (ท.อ.๔)
หนังสือมอบอำนาจควรใช้ตามแบบของกรมที่ดิน เนื่องจากมีรายการข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง หากจะใช้กระดาษอื่นควรเขียนข้อความอนุโลมตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดการกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และป้องกันไม่ให้เกิดการตกหล่นของข้อมูลอีกด้วย
ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจ
ตัวอย่างแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจโฉนด (ท.ด.๒๑)
ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ
หรือสามารถดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจและแบบฟอร์มอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมที่ดิน www.dol.go.th
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมที่ดิน