top of page
Clip path group
Clip path group

อนันดาฯ ชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหา “แอชตัน อโศก” หลังถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ

28 ส.ค. 2023

ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

0

10

0



ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) กลายเป็นประเด็นร้อนสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอาคารแอชตัน อโศก เป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีทางเข้า-ออกของโครงการฯ สู่ถนนสาธารณะ ความกว้างไม่ถึง 12 เมตร ซึ่งขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


ในวันเดียวกัน (27 ก.ค. 66) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยยืนยันว่าการทำโครงการแอชตัน อโศก ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมายอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังผ่านการพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการฯ จากหน่วยงานของรัฐ และเชื่อถือว่าการขออนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมาย


ล่าสุด วันที่ 23 สิงหาคม 2566 บริษัทอนันดาฯ ได้รายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินงาน หลังจากที่แอชตัน อโศก ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ โดยในช่วงระยะเวลาประมาณ 14 วัน ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับชี้แจงและสรุปถึงประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเร่งหาทางออกให้กับกรณีดังกล่าวโดยเร็วที่สุด


การดำเนินการของบริษัทฯ ในช่วง 14 วัน ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

  • แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานกับลูกบ้าน

  • หารือกับสถาบันการเงินหลัก

  • ประชุมหารือแนวทางแก้ไขกับ รฟม.

  • ประชุมหารือแนวทางแก้ไขกับสำนักการโยธา กทม. (สนย.)

  • ผู้บริหารร่วมประชุมกับคณะกรรมการฯ โครงการ


สรุป 5 แนวทางแก้ไขปัญหา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ


แนวทางแก้ไขที่ 1 ยื่นขอรับใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ โดยหาที่ดินเพิ่มเติม

บริษัทอนันดาฯ ได้เตรียมแนวทางที่หลากหลายในการจัดหาที่ดิน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการหาที่ดินโดยเร็วที่สุด ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 6 เดือน นับจากวันที่ได้ที่ดินเพิ่มเติม



แนวทางแก้ไขที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่

บริษัทอนันดาฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียด เพื่อขอพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยื่นภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา



แนวทางแก้ไขที่ 3 ประสานเจ้าของเดิม ให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจาก รฟม.

บริษัทอนันดาฯ อยู่ระหว่างการประสานเจ้าของที่ดินเดิม เพื่อขอคืนที่ดินจาก รฟม.



แนวทางแก้ไขที่ 4 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน ผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคมไปยังรัฐสภา

บริษัทอนันดาฯ ร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดิน เพื่อขยายขอบเขตการใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อประโยชน์อื่นอย่างเหมาะสม โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างแก้ไขกฎหมาย



แนวทางแก้ไขที่ 5 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535 ผ่านสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

บริษัทร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อสามารถใช้ที่ดินที่มีลักษณะเป็นภาระติดพันถาวรให้สามารถใช้เป็นทางเข้า-ออกได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการแก้ไขประมาณ 3 เดือน นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างแก้ไขกฎหมาย


สรุป 5 ประเด็นสำคัญแนวทางแก้ไขแอชตัน อโศก


ทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก (Google Street View)


ข้อมูลจาก Ananda Development




ความคิดเห็น

Share Your ThoughtsBe the first to write a comment.
bottom of page