top of page
Clip path group
Clip path group

เปิดไทม์ไลน์ “แอชตัน อโศก” ถูกศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

10 ส.ค. 2023

ใช้เวลาอ่าน 3 นาที

0

41

0



จากเหตุการณ์วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กับข่าวใหญ่สะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตคอนโดมิเนียมหรูใจกลางสุขุมวิท “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) ด้วยเหตุก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตามองว่าบทสรุปและทางออกของกรณีนี้จะจบลงอย่างไร

ย้อนไทม์ไลน์อีกครั้งกับที่มาของมหากาพย์แอชตัน อโศก นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ได้มีการเปิดตัวโครงการแอชตัน อโศก แบรนด์คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ Segment บนสุดของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จนกระทั่งถูกฟ้องร้องโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ได้เปิดประเด็นถึงเรื่องการอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ มีความกว้างไม่ถึง 12 เมตร ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ทำให้เกิดการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ฐานละเลยและกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกลายเป็นคดีพิพาทที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน


4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องร้องคดีดังกล่าว ได้เดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของกรุงเทพฯ


ถึงแม้ว่ากรณีนี้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด จะตกอยู่ในฐานะ “ผู้ร้องสอด” แต่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงที่วงการอสังหาริมทรัพย์ จะต้องนำมาเป็นกรณีศึกษาต่อไปในอนาคต


“แอชตัน อโศก” คอนโดหรูบนทำเลทองใจกลางสุขุมวิท

โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) คอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6.4 พันล้านบาท ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บน Prime Location ใกล้แยกอโศกมนตรี ห่างจากรถไฟฟ้า MRT สถานีสุขุมวิท เพียง 20 เมตร และรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก เพียง 230 เมตร อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การค้าชื่อดังอย่าง Terminal 21 อาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เรียกได้ว่าเดินทางง่ายและสะดวกสบาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง


อีกหนึ่งไฮไลท์ของโครงการแอชตัน อโศก คือการออกแบบตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง สระว่ายน้ำ Semi-Outdoor ยาว 38 เมตร ห้องฟิตเนส ห้องสมุด และ Social Club เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่หลายคนให้ความสนใจ ทำให้โครงการฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke)


สรุปไทม์ไลน์ มหากายพ์ แอชตัน อโศก

  • กันยายน 2557

อนันดาฯ ประกาศเปิดตัวโครงการแอชตัน อโศก อนันดาฯ ประกาศเปิดตัวโครงการแอชตัน อโศก คอนโดมิเนียม High-Rise สูง 50 ชั้น บนที่ดินขนาดกว่า 2 ไร่ ใกล้แยกอโศกมนตรี โดยมีมูลค่าโครงการกว่า 6.4 พันล้านบาท ถือเป็นโครงการที่มีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้ง โดยขณะนั้นมีราคาเฉลี่ยทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 250,000 บาทต่อตารางเมตร หรือคิดเป็นราคาเริ่มต้นประมาณ 7 ล้านบาทต่อยูนิต แม้จะเป็นคอนโดฯ ที่มีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถปิดการขายได้ในเวลาไม่นาน

  • มิถุนายน 2559

นายศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมด้วยคนในชุมชน ยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วนั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 ได้ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นับรวมผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ในฐานร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ ด้วยการอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


เนื่องจากที่ดินของแอชตัน อโศก เดิมทีเป็นที่ตาบอดจากการเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงทำให้ทางอนันดาฯ ต้องทำสัญญากับ รฟม. ด้วยการสร้าง “อาคารจอดรถ” ผลตอบแทนประมาณ 97 ล้านบาท แลกกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของ รฟม. ขนาดประมาณ 6.60 เมตร เพื่อขยายเขตทางจากเดิมที่มีความกว้างเพียง 6.40 เมตร รวมความกว้างเป็น 13 เมตร สำหรับใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า


สำหรับที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นทีมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร และที่ดินนั้นต้องว่างเพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้า-ออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวกด้วย


ในกรณีของแอชตัน อโศก ถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงทำให้ไม่สามารถนับว่าเป็นทางเข้า-ออกได้ แม้ว่าจะมีขนาดถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

  • มีนาคม 2561

แอชตัน อโศก ยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ แม้โครงการจะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว

กลายเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อโครงการแอชตัน อโศก ไม่สามารถส่งมอบห้องชุดให้กับลูกบ้านได้ตามกำหนดการเดิม ซึ่งมีกำหนดส่งมอบในช่วงเดือนมีนาคม 2561 เนื่องจากยังไม่ได้รับใบอนุญาตใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ.6) จากทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) สาเหตุมาจากการยื่นฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการฯ โดยอนันดาฯ ซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้ร้องสอด จึงต้องเลื่อนการส่งมอบห้องชุดออกไป ท่ามกลางความไม่พึงพอใจของลูกบ้าน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของบริษัทฯ

  • มิถุนายน 2561

กทม. ออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ. 6) ให้แก่บริษัทฯ

หลังจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป ในเวลาต่อมา กทม. จึงได้ดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ. 6) แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. หากศาลมีคำสั่งพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้วผลการพิพากษาทำให้อาคารของโครงการขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้รับใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายหลังได้ใบรับรองฯ บริษัทฯ จึงได้เริ่มทำการโอนส่งมอบห้องชุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นมา

  • 30 กรกฎาคม 2564

ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง "แอชตัน อโศก"

กลายเป็นกระแสสังคมที่ถูกกล่าวถึงกันเป็นอย่างมากหลังจากที่ “ศาลปกครองกลาง” มีคำพิพากษาเพิกถอน “ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต” โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นคำพิพากษาในคดีที่ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐในฐานร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ด้วยการอนุญาตให้อนันดาฯ ก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


จากกรณีพิพาทดังกล่าว ทางอนันดาฯ ได้ออกจดหมายชี้แจงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยมีใจความว่า จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด และขอยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน

ที่มา: Ananda Development

  • 24 พฤศจิกายน 2565

กรณีสยามสมาคมฯ ฟ้องขอระงับก่อสร้างโครงการฯ

อีกหนึ่งอุปสรรคที่ แอชตัน อโศก ต้องเผชิญกับคดีความที่ทาง “สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์” ได้ฟ้องขอให้ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ในส่วนที่ก่อสร้างขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นเรือนไทยอนุรักษ์ของสยามสมาคมฯ ได้รับความเสียหาย

โดยศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แล้วแต่กรณี สำหรับกรณีตามมาตรา 42 ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

เรือนคำเที่ยง (สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์)

  • 27 กรกฎาคม 2566

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ "แอชตัน อโศก"

เรียกได้ว่าเป็นข่าวที่สะเทือนวงการอสังหาฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 “ศาลปกครองสูงสุด” ได้มีคําพิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คือ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตโครงการแอชตัน อโศก


“ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 กุมภาพันธ์ 2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 กรกฎาคม 2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิถุนายน 2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว”


ในวันเดียวกัน (27 ก.ค. 66) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง เรื่องผลคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา “ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง” โดยมีใจความว่า


เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ อโศก จำกัดซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบในฐานะผู้ร้องสอด


ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าที่ดินของ รฟม. ไม่อาจนำมาให้บริษัทฯ ใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย


บริษัทฯ ขอยืนยันว่า การทำโครงการแอชตัน อโศก ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมายอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังผ่านการพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการฯ จากหน่วยงานของรัฐ และเชื่อถือว่าการขออนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จึงอยากขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วน เพื่อจะร่วมแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นคดีนี้อีก และขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

ที่มา: Ananda Development

  • 4 สิงหาคม 2566

ศรีสุวรรณ บุกศาลาว่าการ กทม. ยื่นร้องผู้ว่าฯ

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 66 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวน สอบสวนเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ทั้งหมดที่มีส่วนในการออกใบรับแจ้งหรือหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก




จากกรณีแอชตัน อโศก สร้างผลกระทบให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของร่วมอาคารชุดหรือลูกบ้านคอนโดฯ ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าว และยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาอย่างเป็นธรรม สุดท้ายนี้ “แอชตัน อโศก” จะมีบทสรุปอย่างไรคงต้องรอติดตามกันต่อไป



ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ข่าวยื่นร้องเรียน กทม.

ข่าวใบอนุญาตฯ แอชตัน อโศก

ข้อมูล พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522

ข่าวศาลปกครอง คดีสยามสมาคมฯ

ข่าวศาลปกครอง คดีฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตฯ แอชตัน อโศก

หนังสือชี้แจงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางโครงการแอชตันอโศก

ประกาศสำคัญ เรื่องผลคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา “ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง”



ความคิดเห็น

แชร์ความคิดเห็นของคุณเชิญแสดงความคิดเห็น คุณคือคนแรกที่แสดงความคิดเห็นที่นี่
bottom of page