
แบ่งแปลงที่ดินกี่แปลงถึงเข้าข่ายจัดสรรที่ดิน?
29 ม.ค. 2024
ใช้เวลาอ่าน 1 นาที
0
789
0

การแบ่งแปลงที่ดิน สามารถทำการแบ่งแยกที่ดินและขอรังวัดได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แต่หากมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน จะเข้าข่ายการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543
เจ้าของที่ดินจำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก่อน จึงจะสามารถแบ่งขายที่ดินหรือแบ่งที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ค่ะ
การจัดสรรที่ดิน คืออะไร?
ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 “การจัดสรรที่ดิน” คือ การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน รวมถึงกรณีที่มีการแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยไว้ไม่ถึง 10 แปลง และต่อมาได้แบ่งที่ดินแปลงเดิมเพิ่มภายในระยะเวลา 3 ปี เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนแปลงย่อยตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไปด้วย
สำหรับการจำหน่ายที่ดินที่แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อจำหน่ายในลักษณะที่อยู่อาศัย เพื่อประกอบการพาณิชย์ เพื่อประกอบการอุตสาหกรรม หรือเพื่อเกษตรกรรม ก็จะอยู่ในลักษณะเป็นการจัดสรรที่ดินเช่นเดียวกัน

หากเข้าข่ายจัดสรรที่ดิน ต้องยื่นขออนุญาตก่อน
หากแบ่งแปลงที่ดินเข้าข่ายการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 จะต้องได้รับใบอนุญาตการจัดสรรที่ดินก่อน รวมถึงต้องมีระบบสาธารณูปโภคให้ครบถ้วนและผ่านมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับการขอใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ผู้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินจะต้องมีสิทธิในที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ ต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่มีชื่อปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.)
หลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
หลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการแบ่งแยกที่ดินและขนาดที่ดิน
ขนาดที่ดิน | ขนาดแปลงย่อย | |
ขนาดเล็กพิเศษ | ในเขต กทม./เทศบาล ไม่เกิน 2 ไร่ | ไม่เกิน 32 แปลง |
ขนาดเล็กพิเศษ | ในเขต อบต. ไม่เกิน 4 ไร่ | ไม่เกิน 40 แปลง |
ขนาดเล็ก | ที่ดินไม่เกิน 19 ไร่ | ไม่เกิน 99 แปลง |
ขนาดกลาง | 19-100 ไร่ | ตั้งแต่ 100-499 แปลง |
ขนาดใหญ่ | เกิน 100 ไร่ | ตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป |
ที่มา: กรมที่ดิน
ต้องการยกเลิกการจัดสรรที่ดิน สามารถทำได้หรือไม่?
หากเปลี่ยนใจไม่ต้องการจัดสรรที่ดิน สามารถยกเลิกการจัดสรรที่ดินได้ ทั้งในกรณีที่ยังไม่มีการจัดสรรที่ดินและกรณีที่มีการจัดสรรที่ดินแล้ว โดยยื่นคำขอตาบแบบ จ.ส.3 พร้อมเอกสารหลักฐานต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา/ส่วนแยก/อำเภอ แห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่
จากนั้นเจ้าพนักงานจะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร และปิดประกาศคำขอยกเลิกเป็นระยะเวลา 60 วัน เมื่อครบกำหนดประกาศ ให้ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ดินคัดค้าน (30 วัน) หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการส่งเรื่องราวคำขอให้คณะกรรมการฯ พร้อมคำคัดค้าน (กรณีมีการคัดค้าน) เป็นลำดับต่อไป
ข้อมูลจาก กรมที่ดิน