top of page
Clip path group
Clip path group

แอล ดับเบิลยู เอสฯ เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบภาคอสังหาฯ ปี 67

ม.ค. 11

ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

0

4

0

“แอล ดับเบิลยู เอสฯ” (LWS) ประเมินสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 5-10% ผลมาจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาฯ ในปี 2567

คุณประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ประเมินสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 5-10% เป็นผลมาจากราคาที่ดิน ค่าแรงขั้นต่ำ ราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ภาพรวมสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2567 จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 หรือสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด


คุณประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ LWS


4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบภาคอสังหาฯ ปี 67

1. อัตราดอกเบี้ย

“อัตราดอกเบี้ย” ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการตัดสินใจลงทุนหรือเลือกซื้อที่อยู่อาศัย หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการและการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2567 นั้นเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566


2. ค่าแรงขั้นต่ำ

นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีแผนจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 นับเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น


3. ราคาวัสดุก่อสร้าง

ราคาวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างและระดับราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567 เทียบกับปี 2566


4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อในตลาด โดยในปี 2566 มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ที่ระดับ 60-65% จากยอดการขออนุมัติสินเชื่อ



4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบภาคอสังหาฯ ปี 67



LWS แนะปรับกลยุทธ์ลดความเสี่ยง

จากปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว LWS ยังได้กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับกลยุทธ์การขายจากการเป็นผู้พัฒนาโครงการและขายที่อยู่อาศัย สู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปแบบเพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุน สำหรับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยวางแผนและบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว จึงมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทำให้ลูกค้าบางรายอาจถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระ มีฐานรายได้ไม่แน่นอน หรืออาจไม่มีเอกสารทางการเงิน จึงมักถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย


ดังนั้น หากบริษัทอสังหาริมทรัพย์สามารถจับมือกับสถาบันการเงิน และให้คำแนะนำกับลูกค้าในการบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อให้โครงสร้างทางการเงินส่วนบุคคลได้รับการยอมรับและการพิจารณาสินเชื่อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงิน



ข้อมูลและภาพประกอบ LWS, BOT

ความคิดเห็น

แชร์ความคิดเห็นของคุณเชิญแสดงความคิดเห็น คุณคือคนแรกที่แสดงความคิดเห็นที่นี่
bottom of page