โอ้โห! นี่หรือบางกอก ย้อนชม 5 สถานที่ ก่อนจะมาเป็นแลนด์มาร์กกลางกรุง
27 ก.พ. 2023
ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
0
189
0
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ดินใจกลางเมืองหรือที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ถูกพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และคอนโดมิเนียม ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประกอบกับเทรนด์การพัฒนาด้านอสังหาฯ ทำให้หลาย ๆ โครงการจึงถูกพัฒนาออกมาในรูปแบบ “มิกซ์ยูส” (Mixed-Use) ซึ่งเป็นการผสมผสานการใช้ประโยชน์ระหว่างที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชยกรรมบนพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดศักยภาพและตอบโจทย์ความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุด
แต่ก่อนที่จะมาเป็นแลนด์มาร์กกลางกรุงที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ สถานที่บางแห่งเคยเป็นโลเคชั่นยอดฮิตในอดีตหรือเคยเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บางแห่งเป็นทำเลทองที่ถูกเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และกลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
LAD จะพาย้อนอดีตในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ผ่านภาพถ่ายจาก Google Street View ว่าแต่ละสถานที่เหล่านั้นเคยเป็นอะไรมาก่อน รวมถึงบรรยากาศโดยรอบพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน พร้อมอัปเดตความคืบหน้าของโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว (Central Ladprao)
ภาพประกอบจาก Google Street View
เริ่มต้นย้อนอดีตสถานที่แรกกับ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว” (Central Ladprao) ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใจกลางห้าแยกลาดพร้าวที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2526 และได้มีการปิดปรับปรุงชั่วคราวไปในปี 2553 โดยใช้เวลานานถึง 6 เดือน เพื่อทำการรีโนเวททั้งภายในและภายนอกอาคารให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่มีอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของแลนด์มาร์กแห่งนี้ คือการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในปี 2562 ประกอบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT “พหลโยธิน” ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 แล้วนั้น ยิ่งตอกย้ำความเป็นแลนด์มาร์กอันดับหนึ่งของย่านห้าแยกลาดพร้าว และส่งผลให้กลายเป็น Hub ที่น่าจับตามอง เพราะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ
ปัจจุบันศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวได้เปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 40 ปี และยังคงปรับปรุงโซนต่าง ๆ พร้อมกับนำเสนอบริการใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวใน Social Media เกี่ยวกับการไม่ต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวนั้น ทางศูนย์ฯ ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวแล้วว่าไม่เป็นข้อเท็จจริง
พิกัด https://goo.gl/maps/gAXh3KYiK7VuN15z5
ข้อมูลจาก Central Ladprao #เซ็นทรัลลาดพร้าว #CentralLadprao
ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (ICONSIAM)
ภาพประกอบจาก Google Street View
ตามมาด้วยแลนด์มาร์กของฝั่งธนบุรีกับ “ศูนย์การค้าไอคอนสยาม” (ICONSIAM) ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขย่าวงการอสังหาฯของฝั่งธนบุรี ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการในปี 2557 จนกระทั่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2561 เรียกได้ว่าปลุกกระแสการพัฒนาพื้นที่โดยรอบจากย่านตึกแถวสู่ย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยอาคารสูง อีกทั้งยังส่งผลให้ที่ดินติดถนนเจริญนครมีราคาเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมในปี 2555-2558 ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 100,000-165,000 บาท/ตร.ว. ต่อมาในปี 2559-2562 ขยับขึ้นเป็นราคา 135,000-250,000 บาท/ตร.ว. สะท้อนให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ริมโค้งน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีศักยภาพของฝั่งธนฯ
ก่อนจะมาเป็น ‘ไอคอนสยาม’ ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงสีสิบเก้า โรงสีข้าวขนาดใหญ่ริมน้ำ และแหล่งพาณิชยกรรมที่มีทั้งตลาด อาคารพาณิชย์ รวมถึงท่าเรือด่วน ที่ปัจจุบันยังคงมีเรือข้ามฟากเปิดให้บริการอยู่เช่นเดิม ในขณะเดียวกันก็มี “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ที่ได้เปิดให้บริการไปแล้ว 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร สถานีคลองสาน รวมถึงในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นได้อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของศูนย์การค้าระดับพรีเมียมลักซ์ชัวรี่แห่งนี้ เพราะสถานีเจริญนครนั้นมีทางเดินยกระดับเชื่อมกับตัวอาคารไอคอนสยามได้โดยตรง และยังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของย่านเจริญนคร-คลองสานอีกด้วย ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ไอคอนสยามได้เปิดให้บริการเฟสที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยใช้ชื่อว่า “ไอซีเอส มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ทาวน์” (ICS Mixed-Use Lifestyle Town) มิกซ์ยูสแห่งใหม่ที่จะมาช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับไอคอนสยามที่ตั้งเป้าเป็น Global Destination แม้ว่ารูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป แต่ย่านเจริญนคร-คลองสาน ยังคงเป็นย่านการค้าที่สำคัญของฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พิกัด https://goo.gl/maps/coDEQwMWWiusdXSN9
ข้อมูลจาก Siampiwat, ICONSIAM, ICS, Thansettakij #ICONSIAM #ICS
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center)
ภาพประกอบจาก Google Street View
แลนด์มาร์กที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้กับ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “ศูนย์สิริกิติ์” เป็นศูนย์ประชุมหลักแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่เปิดให้ใช้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ก่อนที่ทางศูนย์ฯ จะปิดปรับปรุงชั่วคราวไปในปี 2562 และได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการพลิกโฉมรูปแบบอาคารใหม่ทั้งหมด โดยดำเนินการปรับปรุงและดัดแปลงอาคารให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า เพื่อรองรับการใช้งานและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารที่ถูกออกแบบโดย ONION บริษัทสถาปนิกชื่อดัง ที่ได้นำเอาความเป็นไทยมาประยุกต์ให้มีความร่วมสมัยจนกลายเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ในชื่อย่อว่า “QSNCC”
ศูนย์สิริกิติ์หลังจากรีโนเวท ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากผู้จัดงานทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จะเห็นได้จากการจองพื้นที่จัดงานที่มีคิวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตลอดจนการเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่จัดอีเวนต์และงานประชุมระดับ World Class แล้วนั้น ยังมีโซนร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อรองรับผู้มาใช้งานอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ศูนย์สิริกิติ์ ได้โดยตรง เรียกได้ว่าการกลับมาอีกครั้งของศูนย์สิริกิติ์ รวมถึงโครงการอสังหาฯ ในละแวกใกล้เคียงอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมเปิดให้บริการในอนาคต ทำให้ย่านพระรามสี่-รัชดากลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
พิกัด https://goo.gl/maps/7CJzw1wDuPjKc6Uv9
ข้อมูลจาก QSNCC #ศูนย์สิริกิติ์ #QSNCC
โครงการพาร์ค สีลม (Park Silom)
ภาพประกอบจาก Google Street View
จาก “บ้านสิวะดล” บ้านไม้ริมถนนสีลมสู่ “อาคารสีบุญเรือง” อดีตอาคารที่เคยสูงที่สุดในย่านสีลมในปี พ.ศ. 2515 ได้ถูกเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยอีกครั้ง เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดินเดิมที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้ได้คืนคุณค่าให้กับสังคม ด้วยการพลิกฟื้นที่ดินผืนเก่าให้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งใหม่ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนถนนสายธุรกิจแห่งนี้ ภายใต้ชื่อโครงการพาร์ค สีลม (Park Silom)
โครงการ “พาร์ค สีลม” (Park Silom) ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนคอนแวนต์ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของอาคารสิวะดลและอาคารสีบุญเรือง อาคารสำนักงานที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี และในวันนี้ที่ดินทำเลทองแห่งนี้ได้ถูกพัฒนากลายเป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) แห่งใหม่ใจกลางย่านสีลม โดย Nye Estate ได้ร่วมมือกับ Minor International พลิกโฉมที่ดินขนาด 6 ไร่ ให้กลายเป็นอาคารสำนักงานระดับพรีเมียม ความสูง 39 ชั้น และพื้นที่รีเทลกว่า 9,000 ตร.ม. ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘New Breed of Silom’ นอกจากนี้โครงการฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวบริเวณด้านหน้าอาคารขนาดใหญ่กว่า 1 ไร่เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันและยังคงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในย่านนี้
ปัจจุบัน โครงการฯ มีความคืบหน้ากว่า 90 % อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 2566 นี้ คาดว่าหาก พาร์ค สีลม เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วนั้น จะทำให้ย่านสีลมมีสีสันมากขึ้น และอาจส่งผลให้พื้นที่โดยรอบเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
พิกัด https://goo.gl/maps/X9GbvMRfKCviewUZA
ข้อมูลจาก Park Silom, Nye Estate #พาร์คสีลม #ParkSilom
[อดีต] โรงภาพยนตร์สกาลา (The Scala Cinema)
ภาพประกอบจาก Google Street View
พาทัวร์แลนด์มาร์กสุดท้ายกับ “โรงภาพยนตร์สกาลา” (The Scala Cinema) อีกหนึ่งสถานที่ในความทรงจำของใครหลายคน หลังถูกทุบไปเมื่อปลายปี 2564 ปัจจุบันเหลือไว้เพียงแค่เรื่องเล่าและภาพถ่ายของโรงภาพยนตร์แห่งนี้เท่านั้น เรียกได้ว่าการปิดตัวลงของโรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นกระแสสังคมที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
โรงภาพยนตร์สกาลา (The Scala Cinema) เป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลน (Stand Alone) ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2512 โดยตั้งอยู่บนที่ดินทำเลทองขนาดกว่า 6 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนแยกปทุมวันหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “สยามสแควร์” ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) สถานที่แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่อยู่คู่สยามฯ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ก่อนจะปิดฉากลงในปี 2563 เนื่องจากทาง CPN ได้ชนะการประมูลที่ดินแปลงนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยและเตรียมก่อสร้างอาคารใหม่บนพื้นที่ Block A ของสยามสแควร์ ในขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนอื่นก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของย่านธุรกิจใจกลางเมืองที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่ “Block A” ของสยามสแควร์ ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ประกอบด้วยพื้นที่สรรพสินค้า สำนักงาน และโรงแรม มีความสูง 42 ชั้น ชั้นลอย 2 ชั้น และชั้นใต้ดิน 5 ชั้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 4-5 ปี
พิกัด https://goo.gl/maps/NaLx9ByYRLggPfDE9
ข้อมูลจาก มติชน, PMCU #สกาลา #Scala #สยามสแควร์ #SiamSquare